การสัมผัสไวรัสโคโรนาในสถานที่ทำงาน

คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโอกาสการสัมผัสไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในสถานที่ทำงาน

Shape

ภูมิหลัง

(อัปเดตเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2020)

การแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจมีสาเหตุจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พบเป็นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น มลฑลหูเป่ย ประเทศจีน การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) มีการประกาศว่าเป็นการระบาดทั่วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2020 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) การระบาดทั่วคือภาวะที่โรคระบาดไปทั่วโลก

ในวันที่ 16 มีนาคม 2020 รัฐบาลของรัฐวิกทอเรียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐวิกทอเรีย เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)

ไวรัสโคโรนาคืออะไร

ไวรัสโคโรนาคือตระกูลขนาดใหญ่ของไวรัสซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคในสัตว์หรือมนุษย์ ไวรัสโคโรนา (COVID-19) คือไวรัสโคโรนาล่าสุดที่มีการค้นพบ

การติดเชื้อไวรัสโคโรนาทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ระดับน้อยจนถึงรุนแรง

อาการอาจแตกต่างกันไปตั้งแต่เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยจนถึงขั้นปอดบวม ผู้ที่ติดเชื้ออาจมีอาการ:

  • เป็นไข้
  • หนาวสั่นหรือเหงื่อออก
  • ไอ
  • เจ็บคอ
  • หายใจลำบาก
  • น้ำมูกไหล
  • สูญเสียการได้กลิ่น

ในบางกรณีอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คัดจมูก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย

องค์การอนามัยโลก ยืนยันแล้วว่าปัจจัยงหลักในการแพร่เชื้อนั้นมาจากผู้ป่วยที่มีอาการผ่านการไอหรือจาม การแพร่เชื้อโดยผู้ที่ไม่มีอาการอาจเป็นไปได้ แต่พบได้ยาก

นายจ้างมีหน้าที่จัดเตรียมหรือรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพของพนักงานเท่าที่สามารถทำได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งรวมถึงการระบุความเสี่ยงที่มีต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับโอกาสการสัมผัสไวรัสโคโรนา (COVID-19)

การระบุความเสี่ยงต่อสุขภาพ

นายจ้างต้องระบุหาว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่พนักงานจะสัมผัสกับไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในสถานที่ทำงานหรือไม่

การระบุความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอาจรวมถึง:

  • การติดตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความคืบหน้าของสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (COVID-19) (ตัวอย่างเช่น จาก กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ (Department of Health and Human Services หรือ DHHS) – ลิงก์ด้านล่าง)
  • การตรวจทานนโยบาย ขั้นตอน และหลักปฏิบัติสำหรับการควบคุมการติดเชื้อ เพื่อให้แน่ใจว่ามีประสิทธิภาพและได้รับการปฏิบัติตาม
  • ให้ความรู้และให้ข้อมูลข่าวสารใหม่แก่พนักงาน
  • พิจารณาว่าการทำงานทำให้ผู้อื่น (เช่น ลูกค้าหรือสาธารณชนทั่วไป) มีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือไม่
  • พูดคุยกับพนักงานที่:
    • เดินทางมาหรือวางแผนว่าจะเดินทาง
    • สัมผัสกับผู้ป่วยไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ยืนยันแล้ว
    • มีอาการของไวรัสโคโรนา (COVID-19)

การควบคุมความเสี่ยงต่อสุขภาพ

หากพบความเสี่ยงต่อสุขภาพในสถานที่ทำงาน นายจ้างต้องกำจัดความเสี่ยงตราบเท่าที่สามารถทำได้อย่างสมเหตุสมผล และเมื่อไม่สามารถกำจัดได้ ให้ลดความเสี่ยงเท่าที่สามารถทำได้อย่างสมเหตุสมผล

นายจ้างยังมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่พนักงานและตัวแทนด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย (HSR) ในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพหรือความปลอดภัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงหรือมีแนวโน้มส่งผลกระทบโดยตรงต่อพนักงานเท่าที่สามารถทำได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งรวมถึง การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจหาวิธีควบคุมความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในสถานที่ทำงาน

ประเภทของมาตรการควบคุมที่จำเป็นนั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความพร้อมและความเหมาะสมของการควบคุมสำหรับสถานที่ทำงานแต่ละแห่ง มาตรการควบคุมอาจรวมถึง:

  • แนะนำให้พนักงานทำงานจากบ้าน
  • ปรับใช้โครงการเว้นระยะห่างจากผู้อื่น ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำจากหัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำรัฐวิกทอเรีย
  • ให้สิ่งอำนวยความสะดวกหรือผลิตภัณฑ์ (เช่น เจลล้างมือฆ่าเชื้อ ถ้ามี) อย่างเพียงพอ เพื่อให้พนักงานปฏิบัติตามหลักการรักษาสุขอนามัยที่ดี
  • ให้อุปกรณ์ป้องกันตัวส่วนบุคคลที่เหมาะสม รวมถึงข้อมูลหรือการฝึกอบรมถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์และวิธีการใช้งานอุปกรณ์อย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ โต๊ะ สำนักงาน หรือเครื่องมือและอุปกรณ์การทำงานอื่น ๆ ร่วมกัน
  • จัดทำนโยบายการควบคุมการติดเชื้อ
  • ยกเลิกการเดินทางที่เกี่ยวกับงานทั้งหมด ยกเว้นที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงการประชุมแบบพบปะโดยการใช้วิธีการสื่อสารอื่น ๆ เช่น ผ่านโทรศัพท์หรือการประชุมผ่านวิดีโอ
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานเข้าใจว่าควรอยู่ห่างจากสถานที่ทำงานเมื่อใด เช่น เมื่อ:
    • กลับมาจากการเดินทางไปต่างประเทศ
    • ตนเองสัมผัสกับผู้ป่วยไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ยืนยันแล้ว
    • ตนเองเป็นผู้ป่วยไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ยืนยันแล้ว
    • ตนเองรู้สึกไม่สบาย ไม่ว่าอาการจะเล็กน้อยมากก็ตาม

หากพนักงานคิดว่า ตนเองได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ยืนยันแล้ว หรือเริ่มมีอาการของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ไม่ว่ามีอาการเพียงเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม พนักงานห้ามไปทำงานโดยเด็ดขาด พนักงานควรทำสิ่งต่อไปนี้แทน:

  • กักตัวเองทันที ขอคำแนะนำจากแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือสายด่วนไวร้สโคโรนา (COVID-19) ตลอด 24 ชั่วโมงของ DHHS ที่หมายเลข 1800 675 398 เพื่อขอรับการตรวจ
  • แจ้งนายจ้างโดยเร็วที่สุด ปฏิบัติตามขั้นตอนที่สถานที่ทำงานกำหนด และแจ้งนายจ้างหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป (ตัวอย่างเช่น หากผลตรวจไวรัสโคโรนา (COVID-19) ของตนเองเป็นบวก)

หน้าที่ของนายจ้างคือการกำจัดและลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตราบเท่าที่ทำได้อย่างสมเหตุสมผล รวมถึงตรวจสอบให้แน่ใจว่า:

  • พนักงานรู้ว่าควรทำอย่างไรหรือต้องแจ้งใครหากรู้สึกไม่สบาย หรือสงสัยว่าตนเองติดเชื้อ ตามข้อมูลที่ DHHS ให้ไว้ (ดูลิงก์ด้านล่าง)
  • พนักงานที่ป่วยต้องไม่มาที่ทำงาน รวมถึงพนักงานที่มีผลตรวจไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นบวกหรือผู้ที่ยืนยันแล้วว่าเป็นผู้ป่วยไวรัสโคโรนา (COVID-19)

พนักงานควรแจ้งนายจ้างโดยเร็วที่สุด หากผลตรวจไวรัสโคโรนา (COVID-19) ของตนเองเป็นบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเคยเข้าไปสถานที่ทำงาน

นายจ้างควรขอคำแนะนำจาก DHHS ทันที หากมีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในสถานที่ทำงาน

ทุกคนในสถานที่ทำงานควรรักษาสุขอนามัยที่ดีโดย:v

  • ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำ (อย่างน้อย 20 วินาที) หรือด้วยเจลล้างมือแอลกอฮอล์ (มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์)
  • หากมือดูสกปรกให้ล้างด้วยสบู่และน้ำ
  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้ง:
    • ก่อนรับประทาน
    • หลังเข้าห้องน้ำ
    • หลังอยู่ในสถานที่สาธารณะ
    • หลังจากไอ จาม หรือสั่งจมูก
  • ปิดจมูกและปากเมื่อไอและจาม และทิ้งทิชชู่ใช้แล้วทันที
  • เว้นระยะห่างระหว่างตนเองและผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตรv
  • เช็ดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่สัมผัสบ่อย ๆ เป็นประจำ เช่น โทรศัพท์ คีย์บอร์ด มือจับประตู สวิตช์ไฟ และบนม้านั่ง
  • พบแพทย์หากรู้สึกไม่สบาย และอยู่ห่างจากสถานที่ทำงานและสถานที่สาธารณะ

การทำงานจากที่อื่นนอกจากสถานที่ทำงานตามปกติ

หัวหน้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำรัฐวิกทอเรียมีคำสั่งว่า คุณต้องทำงานจากบ้าน ถ้าสามารถทำได้

การทำงานจากบ้านนั้นจะสมเหตุสมผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของสถานที่ทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีให้แก่พนักงานเพื่อให้สามารถทำงานได้จากทางไกล และความสามารถเพื่อให้พนักงานทำงานได้อย่างปลอดภัยจากบ้าน

ขณะตัดสินใจว่าพนักงานควรทำงานจากบ้านหรือไม่ นายจ้างควร:

  • ปรึกษากับพนักงานและ HSR
  • พิจารณาว่าการทำงานจากสถานที่อื่นจะมีความเสี่ยงเพิ่มเติมหรือไม่
  • คอยแจ้งข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับความเสี่ยงไวรัสโคโรนา (COVID-19) และมาตรการควบคุมที่เหมาะสม
  • ขอคำแนะนำเฉพาะสำหรับสถานการณ์ รวมถึงจากพนักงาน องค์กรนายจ้าง และผู้ให้บริการทางกฎหมาย

สำหรับสถานที่ทำงานบางแห่งที่ไม่สามารถทำงานจากทางไกลได้ (เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับการพบลูกค้า หรืองานที่ต้องพึ่งพาโรงงานหรืออุปกรณ์เฉพาะ) เมื่อเป็นเช่นนี้ ให้ใช้การควบคุมอื่น ๆ เช่น ขั้นตอนการควบคุมการติดเชื้อและการเว้นระยะห่างระหว่างกันในรูปแบบอื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

หน้าที่ตามกฎหมาย

นายจ้างมีหน้าที่ตาม พรบ.อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ค.ศ. 2004 (OHS Act) ซึ่งกำหนดให้นายจ้างต้องดำเนินการต่อไปนี้ เท่าที่สามารถทำได้อย่างสมเหตุสมผล:

  • จัดเตรียมและรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพของพนักงานและลูกจ้างอิสระ รวมถึงสุขภาพจิตด้วย
  • ให้ข้อมูล คำแนะนำ การฝึกอบรม หรือการกำกับดูแลที่จำเป็นแก่พนักงานและลูกจ้างอิสระ เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพ
  • ตรวจติดตามสุขภาพของพนักงาน
  • ตรวจติดตามสภาวะที่สถานที่ทำงานที่อยู่ภายใต้การจัดการและการควบคุมของนายจ้าง
  • ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยแก่พนักงาน รวมถึงจัดคำแปลเป็นภาษาอื่น นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ (ถ้ามี)
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้อื่นนอกจากพนักงานของนายจ้างไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยที่เกิดจากการปฏิบัติงานของนายจ้างv
  • ปรึกษากับพนักงานและ HSR ในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพหรือความปลอดภัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงหรือมีแนวโน้มส่งผลกระทบโดยตรงต่อพนักงาน

พนักงานยังมีหน้าที่ตาม OHS Act โดยต้อง:

  • ดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของตนเองอย่างสมเหตุสมผล
  • ดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของผู้อื่นที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการหรือการละเว้นของพนักงานในที่ทำงาน
  • ให้ความร่วมมือกับนายจ้างที่ต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามข้อกำหนดที่มีผลโดยหรือเป็นไปตาม OHS Act